วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ  (Cooperative  Learning)
                    การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือนับว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการกลุ่มให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์และเกิดความสำเร็จร่วมกันของกลุ่ม ซึ่งการเรียนแบบร่วมมือมิใช่เป็นเพียงจัดให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม เช่น ทำรายงาน ทำกิจกรรมประดิษฐ์หรือสร้างชิ้นงาน  อภิปราย ตลอดจนปฏิบัติการทดลองแล้ว ผู้สอนทำหน้าที่สรุปความรู้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผู้สอนจะต้องพยายามใช้กลยุทธ์วิธีให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการประมวลสิ่งที่มาจากการทำกิจกรรมต่างๆ จัดระบบความรู้สรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นหลักการสำคัญ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, 2544 :15 ) ดังนั้น การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้สอนจะต้องเลือกเทคนิคการจัดการเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียน และผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมที่จะร่วมกันทำกิจกรรม รับผิดชอบงานของกลุ่มร่วมกัน โดยที่กลุ่มจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อสมาชิกทุกคนได้เรียนรู้บรรลุตามจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเรียนเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ความหมาย
                    จากความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือข้างต้น  สรุปได้ว่า  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-6 คน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันรับผิดชอบงานในกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดเป็นความสำเร็จของกลุ่ม
วัตถุประสงค์ 
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 121) ได้กล่าวว่า ดังนี้
                    1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการกลุ่มได้ฝึกบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่ม
                    2. เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดค้นคว้า  ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 
ทักษะการคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหา  การตัดสินใจ  การตั้งคำถาม  ตอบคำถาม  การใช้ภาษา  การพูด ฯลฯ
                    3. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะทางสังคม  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น 
การเสียสละ  การยอมรับกันและกัน  การไว้วางใจ  การเป็นผู้นำ  ผู้ตาม  ฯลฯ
สรุปได้ว่าวิธีสอนเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินการสอน  วิธีสอนแบบใดแบบหนึ่งก็คือขั้นตอนในการดำเนินการสอนซึ่งมีองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่นที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้น  ดังนั้นผู้สอนจึงควรศึกษาให้เข้าใจลักษณะเด่นหรือแก่นสำคัญของวิธีสอนแต่ละวิธี  เพื่อช่วยให้สามารถใช้วิธีแต่ละวิธีได้อย่างเหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของวิธีนั้น ๆ นอกจากนั้นวิธีสอนบางวิธียังมีชื่อเป็นได้ทั้งวิธีสอนและรูปแบบการสอน  ผู้สอนจึงจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบสำคัญของวิธีสอนและรูปแบบการสอนอย่างชัดเจน  เพื่อจะได้สามารถวิเคราะห์และจำแนกความแตกต่างได้  วิธีสอนมีให้เลือกอย่างหลากหลาย  ครูผู้สอนจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบทเรียนและจุดมุ่งหมาย  การใช้วิธีสอนหลากหลายวิธี  นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนแล้ว  ยังสามารถช่วยให้บทเรียนมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น  และจูงใจผู้เรียนให้สนใจเรียนรู้เพิ่มขึ้นด้วย   (ทิศนา  แขมมณี, 2550 : 383)